(close)

Site Login

Call Us: 0-2470-9123, Mail : kmac@kmac-kmutt.org

ข้อบังคับชมรม.

ข้อบังคับชมรมนักศึกษาเก่าวิศวกรรมเครื่องกล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

แก้ไขล่าสุด 17 พ.ย. 2553

หมวดที่ 1 ความทั่วไป

ข้อ 1    ชมรมนี้ชื่อว่า “ชมรมนักศึกษาเก่าวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี” ใช้อักษรย่อว่า “ชนก.มจธ.” เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า “KMUTT Mechanical Engineering Alumni Club” ใช้อักษรย่อว่า “KMAC”

ข้อ 2  เครื่องหมายของชมรม

kmac-logo-reprint

ความหมาย
โล โก้นี้เป็นรูปตัวของมดซึ่งมดนั้นเป็นเสมือนกับสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของ “มจธ.” ด้วยชื่อที่คนทั่วไปมักเรียก “มจธ.” ย่อๆว่า “บางมด” และมดนี้เป็นมดแดงซึ่งสีแดงเป็นสีของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ส่วนด้านหลังของมดนั้นจะเป็น Planetary Gear โดย Sun Gear จะหมายถึงภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล Planet Gear จะหมายถึงนักศึกษาปัจจุบัน นักศึกษาเก่า และอาจารย์รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของภาควิชาฯ และ Ring Gear หมายถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งตัว Planetary Gear นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของตัวมด ทำให้เหมือนกับว่าไม่ว่ามดตัวนี้จะเดินไปแห่งหนใด ก็จะมีองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ภาคในตัว Planetary Gear ติดตามไปด้วยเสมอ เปรียบเสมือนกับไม่ว่าจะมีการพัฒนาไปในทิศทางใด ก็จะไม่มีการลืมหรือมองข้ามองค์ประกอบที่สำคัญเหล่านั้นไปนั่นเอง

ข้อ 3    คำนิยามในข้อบังคับนี้ คือ
3.1   “ชมรม” หมายถึง ชมรมนักศึกษาเก่าวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3.2   “คณะกรรมการ” หมายถึง คณะบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นคณะผู้บริหารกิจการของ “ชมรม”
3.3   “กรรมการ” หมายถึง กรรมการชมรมนักศึกษาเก่าวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3.4   “มหาวิทยาลัย” หมายถึง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3.5   “นักศึกษา” หมายถึง นักศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3.6   “สมาชิก” หมายถึง สมาชิกทุกประเภทของชมรม

ข้อ 4    สำนักงานของชมรมตั้งอยู่ ณ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ชั้น 5 อาคารวิศวะวัฒนะ 5 เลขที่ 126 ถนนประชาอุทิศ เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ 10140

หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์ของชมรม

ข้อ 5    ชมรมมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
5.1   เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างนักศึกษาเก่า นักศึกษาปัจจุบัน และมหาวิทยาลัย
5.2   เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิก
5.3    เพื่อส่งเสริมเกียรติคุณแห่งวิชาชีพวิศวกรรมเครื่องกล
5.4    เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นทางวิชาการระหว่างสมาชิก
5.5    เพื่อช่วยเหลือ และ ส่งเสริมสวัสดิการของสมาชิก
5.6    เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการและกิจกรรมนักศึกษาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
5.7   ร่วม มือกับองค์กรต่าง ๆ อาทิ สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และชมรม หรือชมรมอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในทางเดียวกัน และสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยและสังคม
5.9    เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่สังคม
5.10   ไม่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง

หมวดที่ 3 สมาชิก

ข้อ 6    ประเภทของสมาชิก มี 4 ประเภท คือ
6.1    สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่เคยเข้ารับการศึกษาในทุกระดับจากแผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
6.2    สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร, และผู้ที่เป็นอาจารย์หรือเคยเป็นอาจารย์ และผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่หรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของแผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี / ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
6.3    สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงเกียรติคุณ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้ที่ให้ความอุปการะคุณแก่ชมรม ซึ่งคณะกรรมการบริหารของชมรม มีมติให้เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
6.4    สมาชิกสมทบ ได้แก่ นักศึกษาผู้กำลังศึกษาในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ข้อ 7   คุณสมบัติของสมาชิก จะต้องประกอบด้วย
7.1    เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
7.2    ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
7.3    ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของชมรม เท่านั้น

ข้อ 8    ไม่มีการเรียกเก็บค่าสมัคร และค่าบำรุงประจำปี

ข้อ 9    การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรม
ให้ ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรมยื่นใบสมัครตามแบบของชมรม และเลขานุการจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับ หรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของชมรม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใด ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ 10   สมาชิกภาพของสมาชิกสามัญ และวิสามัญ เริ่มนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก

ข้อ 11    สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณา ลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของชมรม ได้มาถึงยังชมรม

ข้อ 12    สมาชิกภาพของสมาชิกทุกประเภทสิ้นสุดลงด้วยเหตุ ดังต่อไปนี้
12.1    ตาย
12.2    ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้ พิจารณาอนุมัติ
12.3    ขาดคุณสมบัติสมาชิก
12.4    คณะกรรมการลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ในกรณีที่สมาชิกผู้นั้น
12.4.1    กระทำความผิดถึงต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาของศาลทั้งนี้ไม่รวมถึงความผิด ลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
12.4.2    ละเมิดระเบียบหรือข้อบังคับของชมรมโดยเจตนา ที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่ชมรม

ข้อ 13     สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
13.1    สมาชิกมีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของชมรมโดยเท่าเทียมกัน
13.2    สมาชิกมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็น ซักถาม และอภิปราย เกี่ยวกับกิจกรรมของชมรมต่อคณะกรรมการบริหารได้ และมีสิทธิที่จะร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชมรม แต่การออกเสียงเกี่ยวกับการบริหารงาน การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของชมรม และ การสมัครรับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหาร ให้เป็นสิทธิของสมาชิกสามัญเท่านั้น
13.3    สมาชิกมีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆที่ชมรมได้จัดให้มีขึ้น
13.4    สมาชิกมีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของชมรม
13.5    สมาชิกมีสิทธิในการประดับเครื่องหมายประเภทต่างๆ ของชมรมได้
13.6    สมาชิกสามัญ รวมกันไม่น้อยกว่า 40 คน มีสิทธิขอต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อตรวจเอกสาร บัญชีทรัพย์สินของชมรมได้ในเวลาอันควร
13.7    สมาชิกมีหน้าที่ประพฤติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของชมรม
13.8    สมาชิกมีหน้าที่ป้องกันรักษาเกียรติของชมรม และไม่กระทำการใด ๆ อันจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่มวลสมาชิก และชมรม
13.9    สมาชิกมีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆของชมรม
13.10   สมาชิกมีหน้าที่เผยแพร่ชื่อเสียงของชมรมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

หมวดที่ 4 คณะกรรมการบริหาร

ข้อ 14    การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของชมรมให้อยู่ภายใต้การอำนวยการของคณะ กรรมการบริหาร ซึ่งตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารของชมรม มีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังนี้
14.1    ประธานชมรม
ทำหน้าที่ เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของชมรม กำหนดนโยบายในการบริหารกิจการของชมรม เป็นผู้แทนชมรมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของชมรม
14.2    รองประธาน
ทำ หน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานชมรมในการบริหารกิจการชมรม กำหนดนโยบายในการบริหารงานของฝ่ายต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากประธานชมรม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ประธานชมรมได้มอบหมาย และทำหน้าที่แทนประธานชมรม เมื่อประธานชมรมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนประธานชมรม ให้รองประธานตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
14.3    เลขานุการ
ทำ หน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของชมรมทั้งหมด เป็นหัวหน้า เจ้าหน้าที่ของชมรมในการปฏิบัติกิจการของชมรม รับผิดชอบการดำเนินงานภายในสำนักงานชมรม ประสานงานการจัดกิจกรรมภายในระหว่างคณะกรรมการชมรม และปฏิบัติตามคำสั่งของประธานชมรม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของชมรม
14.4     เหรัญญิก
ทำ หน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของชมรม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของชมรม และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของชมรมไว้เพื่อตรวจสอบ และปฏิบัติงานตามที่ประธานชมรมมอบหมาย
14.5    ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ทำ หน้าที่เผยแพร่กิจการ และชื่อเสียงเกียรติคุณของชมรมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จัก แพร่หลาย และปฏิบัติงานตามที่ประธานชมรมมอบหมาย
14. 6   ฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์
ทำ หน้าที่เกี่ยวกับการรับสมัครสมาชิก จัดทำทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของชมรม จัดทำแผนสิทธิประโยชน์แก่กรรมการและสมาชิก และปฏิบัติงานตามที่ประธานชมรมมอบหมาย
14.7   กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่
14.7.1   หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือผู้แทน 1 ตำแหน่ง
14.7.2   ผู้แทนอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 1 ตำแหน่ง
14.7.3   ผู้แทนนักศึกษาปัจจุบัน ชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 จำนวน 2 ตำแหน่ง
14.8   กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม

ข้อ 15   การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร
ให้ ที่ประชุมใหญ่โดยสมาชิกสามัญ เลือกคณะกรรมการบริหารฯ ที่สมัครรับการเลือกตั้ง แล้วคณะกรรมการบริหารที่ได้รับการเลือกตั้ง จะประชุมเพื่อเลือกประธานชมรม 1 คน และแต่งตั้งกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการ ตามข้อ 14 โดยจำนวนของคณะกรรมการบริหารที่มาจากการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบชมรม ว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชมรมในแต่ละครั้ง

ข้อ 16    คณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งวาระ 2 ปี โดยประธานชมรมจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 2 วาระ และเมื่อคณะกรรมการอยู่ตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้มีการเลือกตั้ง ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อนจนกว่าคณะกรรมการชุด ใหม่จะได้รับการเลือกตั้ง และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่ง และรับมอบงานกัน ระหว่างคณะกรรมการชุดเก่า และคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้เลือกตั้ง

ข้อ 17    ตำแหน่งกรรมการชมรม ถ้าต้องว่างเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ให้คณะกรรมการบริหารเชิญสมาชิกผู้หนึ่งผู้ใดที่เห็นสมควร เข้าเป็นกรรมการบริหารแทนตามจำนวนที่ขาด แต่กรรมการที่เข้ามารับตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ ซึ่งตนแทนเท่านั้น

ข้อ 18    กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้
18.1    ตาย
18.2    ลาออก
18.3    ขาดจากสมาชิกภาพ
18.4    ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 19   กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลาย ลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และที่ประชุมคณะกรรมการรับทราบการลาออก

ข้อ 20   คณะกรรมการบริหารชมรมมีอำนาจและหน้าที่ คือ
20.1    มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
20.2    มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของชมรม
20.3    มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่ง ตั้ง
20.4    มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
20.5    มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
20.6    มีอำนาจบริหารกิจการของชมรม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับกำหนดไว้
20.7    มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของชมรม
20.8    มีหน้าที่จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญ จำนวนไม่น้อยกว่า 40 คน ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
20.9    มีหน้าที่จัดเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชมรมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
20.10    มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ 21    คณะกรรมการบริหารชมรมจะต้องประชุมกันอย่างน้อยไตรมาสละ 1 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของชมรม

ข้อ 22    การประชุมกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของคณะกรรมการ จึงถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดเป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 23    ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานชมรม และรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5 การประชุมใหญ่

ข้อ 24  การประชุมของชมรมมี 4 ชนิด คือ
24.1    ประชุมใหญ่สามัญ
24.2    ประชุมใหญ่วิสามัญ
24.3    ประชุมคณะกรรมการบริหาร

ข้อ 25    คณะกรรมการจะต้องจัดให้การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง และในการประชุมใหญ่ให้มีระเบียบวาระการประชุมให้ชัดเจน และต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อย ดังนี้
25.1   ประธานแจ้งเพื่อทราบ
25.2   ประธานแถลงผลงานดำเนินงานในรอบปีหรือรอบครึ่งปี
25.3   เหรัญญิกเสนองบการเงินประจำปีที่ผ่านมา
25.5   ปรึกษากิจการของชมรม
25.6   แผนการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ (ถ้ามี)
25.7   การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชมรม เมื่อครบกำหนดวาระ
25.8   เรื่องอื่นๆ ถ้ามี

ข้อ 26    การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือ เกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิก ไม่น้อยกว่า 40 คน ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ 27    การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้ สมาชิกได้ทราบ และการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลาและสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันสำหรับการประชุมใหญ่สามัญ และล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันสำหรับการประชุมใหญ่วิสามัญ และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของชมรมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ 28    ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุมแต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญ เข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกพอสมควร แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ขยายออกไปแล้ว ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ก็ให้เลื่อนการประชุมคราวนั้นไป และให้จัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายใน 14 วันนับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก การประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าต้องครบองค์ประชุม

ข้อ 29    การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของสมาชิกที่อยู่ในที่ประชุมเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 30    ในการประชุมใหญ่ของชมรม ถ้าประธานชมรม และรองประธานไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำ หน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 6 การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 31    การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของชมรม ถ้ามีให้นำฝากไว้ในบัญชีธนาคารพาณิชย์ ตามมติของคณะกรรมการ

ข้อ 32    การลงนามสั่งจ่ายเงินจากธนาคาร จะต้องประกอบด้วยลายมือชื่อของผู้มีอำนาจจำนวน 2 ใน 3 คน ดังนี้
32.1   ประธานชมรม
32.2   เหรัญญิก
32.3   กรรมการที่ได้รับการมอบหมายจากคณะกรรมการบริหาร

ข้อ 33    ให้ประธานชมรมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของชมรมได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร

ข้อ 34    ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของชมรมไม่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของชมรมทันทีที่โอกาสอำนวยให้

ข้อ 35    เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง ให้เป็นไปตามระเบียบชมรมฯ ว่าด้วยการเงิน

หมวดที่ 7 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกชมรม

ข้อ 36    ข้อบังคับของชมรมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด โดยการเสนอแก้ไขข้อบังคับ สามารถดำเนินการได้โดย
36.1    คณะกรรมการเป็นผู้เสนอ โดยแจ้งขอเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรแก่สมาชิกก่อนวันนัดประชุม ไม่น้อยกว่า 15 วัน
36.2    สมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า 40 คน ทำหนังสือเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 30 วัน

ข้อ 37    การเลิกชมรมจะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของชมรม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมายมติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกชมรมจะ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมดและองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่า 100 คน

ข้อ 38    เมื่อชมรมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของชมรมที่เหลืออยู่ หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

หมวดที่ 8 บทเฉพาะกาล

ข้อ 39   ให้ผู้เริ่มการก่อตั้งชมรมที่มาประชุมในการก่อตั้งชมรม ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการบริหารชมรมชุดก่อตั้งไปก่อน และดำเนินกิจการของชมรมตามข้อบังคับนี้จนกว่าจะได้คณะกรรมการชุดใหม่จากการ ประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อไป
ข้อ 40    ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่ ชมรมได้รับการรับรองจากสมาชิกในการประชุมจัดตั้งชมรมเป็นต้นไป

ข้อ 41   เมื่อชมรมได้รับการจัดตั้ง ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ และสมาชิกภาพของคณะกรรมการบริหารที่ตั้งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันประชุมจัดตั้งชมรมเป็นต้นไป

 

ลงชื่อ ………………………………………………………….

(นายพงศ์ภรณ์  อนุสกุลโรจน์)
ตำแหน่ง …ประธานชมรมนักศึกษาเก่าวิศวกรรมเครื่องกล มจธ.

 


Back to Top